อธิบดีแนะภูมิปัญญาไทยคลายร้อน


 pr0634-22032559

         วันที่ 17 มีนาคม 2559 เวลา 11.30 น. นายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมพร้อมบรรยาย ส่วนการจัดแสดงและสาธิตองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยจากภูมิปัญญาไทย เพื่อใช้ดูแลสุขภาพช่วงหน้าร้อนจัดปีนี้ โดยเน้นการรองรับโรคและกลุ่มอาการที่พบบ่อยในช่วง สภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นและร้อนจัด แสงแดดส่งผลต่อผิวหนัง ทำให้ผิวหนังไหม้ เกิดอาการแสบร้อน เกิดอาการแพ้ มีริ้วรอยก่อนวัย และอาจก่อให้เกิดโรคที่อาจกำเริบเมื่อถูกแสงแดด เช่นโรค SLE โรคลมพิษจากแสงแดด อากาศที่ร้อนขึ้นทำให้เกิดเหงื่อสะสมเป็นสาเหตุของโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา หรือในบางราย ทำให้เกิดกลิ่นตัวอันไม่พึงประสงค์ และโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด

          สิ่งแรกที่อยากแนะนำให้พกติดบ้าน ติดตัวได้แก่ ตำรับยาหอม ซึ่งถือว่าเป็นยาสามัญประจำชาติไทย ยาดม บาล์มสมุนไพร ที่นิยมใช้และแนะนำให้พกติดไว้ใช้ใกล้ตัว ส่วนยาหอมที่แนะนำคือ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมอินทจักร และ ยาหอมนวโกฐ ทั้ง 4 ชนิดนี้ มีข้อบ่งใช้ดังนี้คือ ยาหอมเทพจิตร ใช้แก้ลม บำรุงหัวใจ ยาหอมทิพโอสถ แก้ลมวิงเวียน แก้ลมบาดทะจิต ยาหอมอินทจักร แก้คลื่นเหียนอาเจียน ยาหอมนวโกฐ แก้ลมคลื่นเหียน อาเจียน รวมถึงการเลือกใช้ยาหม่องหรือบาล์มความเป็นสูตรเย็น จะช่วยให้สดชื่น

        มุมสวยกล้าท้าแดด เหมาะสำหรับคนรักสวยรักงาม นำเสนอวิธีฟื้นผิวเสีย ป้องกันผิวเสื่อม ชะลอชรา การใช้ครีมกันแดดทั่วไปที่มี SPF สูงๆ เพราะเข้าใจว่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดด จริงๆแล้ว ครีมกันแดด มีประสิทธิภาพสูงสุดที่ SPF 30 และต้องทาซ้ำระหว่างวัน แต่ส่วนใหญ่คนทั่วไปเข้าใจว่า การใช้ SPF สูงๆ จะมีประสิทธิภาพสูงตามไปด้วย แต่ในความเป็นจริง อาจเสี่ยงให้เกิดการแพ้สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบในครีมกันแดดได้ ดังนั้นการหันกลับมาหาธรรมชาติโดยใช้ภูมิปัญญาไทย พืชผักสมุนไพรใกล้ตัวในการลดความร้อนที่ผิวและฟื้นฟูสภาพผิว จะช่วยลดการสะสมความร้อนที่ผิว ช่วยป้องกันผิวในระยะยาว ทำให้ผิวของท่านไม่เกิดฝ้า กระ ในอนาคต มีการสาธิตการสปา @ home ใช้สมุนไพรที่หาง่าย ได้แก่ แตงกวาปั่นคั้นน้ำ นำมาพอกหน้าหรือผิว หรือฝานเป็นแว่นๆ วางบนใบหน้าจนความเย็นของแตงกวาลดลง ว่านหางจระเข้ นำมาปอกเปลือกระวังน้ำยางสีเหลือง ล้างน้ำหลายๆครั้ง ใช้ส่วนที่เป็นวุ้นและนำวุ้นสีขาวๆ มาวางที่ผิวที่มีปัญหาประมาณ 3-5 นาที ใบย่านาง รางจืด ตำคั้นน้ำข้นๆ พอกบนผิวหนัง ใบตำลึง 5 ใบตำหรือขยี้ให้มีน้ำสีเขียวของตำลึง ใช้สำลีชุบแต้มบริเวณที่เป็นลดพิษร้อน ลดการอักเสบรวมถึง กล้วยน้ำว่าสุกบด พอกหน้า 15 นาที ลดความร้อนผิวได้ดี

          มุมพืชผักสมุนไพรคลายร้อน สำหรับการปรับสมดุลให้ธาตุทั้ง 4 คือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุล จึงควรปรับธาตุด้วยการรับประทาน อาหาร เครื่องดื่มรสขมเย็น รสจืด เพราะตามตำราโบราณรสขมช่วยดับพิษร้อนได้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารที่มีรสขม เช่น ยอดมะระสด หรือต้มจิ้มน้ำพริก สะเดาน้ำปลาหวาน หรือแกงขี้เหล็กปลาย่าง รับประทานมื้อเย็นจะช่วยให้หลับสบาย และช่วยให้ระบบขับถ่ายสะดวกขึ้น 

          มุมน้ำสมุนไพรคลายร้อน เครื่องดื่มที่สามารถดับพิษร้อนได้ *น้ำมะนาว แก้โรคลักปิดลักเปิด (เลือดออกตามไรฟัน) ทำอาหาร ขับเสมหะ ฟอกโลหิต ทำให้ผิวนุ่มนวล แก้ซาง บำรุงเสียง บำรุงโลหิต ขับระดู แก้เล็บขบ แก้ขาลาย จิบแก้ไอ ดับกลิ่นเหล้า ฆ่าพยาธิในท้อง รักษาผม ขับลม รักษาลมพิษ แก้ริดสีดวง แก้ระดูขาว แก้พิษยางน่อง แก้ไข้ แก้ไข้กาฬ แก้ฝี แก้ปวด แก้อักเสบ *น้ำบัวบก บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า แก้เจ็บคอ ขับปัสสาวะ ลดความดัน แก้ช้ำใน *น้ำรากบัว ช่วยบำรุงกำลัง แก้ร้อนใน ใช้เป็นยาชูกำลัง บำรุงเลือด ทำให้สดชื่น*น้ำกระเจี๊ยบ *น้ำย่านาง *น้ำรางจืด *นำตรีผลา *น้ำยาอุทัยทิพย์*ชาเบญจเกสร จากเกสรดอกไม้ 5 ชนิด ได้แก่ ดอกพิกุล บุนนาค สารภี มะลิ เกสรบัว ช่วยบำรุงหัวใจ สดชื่น กระปรี้กระเปร่า

17 มีนาคม 2559

ภาพและข้อมูลโดย สำนักงานสื่อสารองค์กร (สสอ.)

ภาพกิจกรรมเพิ่มเติม
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1209640115720456.1073742480.175702865780858&type=3

 

Pin It
facebook