แพทย์แผนไทยปลุกกระแสประชาชนรวมพลังคนสวดมนต์กว่า 1,000 คน


 pr0316-10072557

          วันนี้ (10 กรกฎาคม 2557) ที่บริเวณลานปฏิบัติธรรมวัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรี ดร.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ประธานเปิดงานสวดมนต์บำบัด โดยมี นพ.ปภัสสร เจียมบุญศรี รองอธิบดีเป็นผู้กล่าวรายงานของโครงการ โดยมีประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการสวดมนต์บำบัดจำนวน 1,199 คน เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญและมีองค์ความรู้ด้านการสวดมนต์ไปใช้ในการดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวัน และเพื่อสืบสานอนุรักษ์การสวดมนต์อย่างยั่งยืนอยู่คู่สังคมไทยสืบไป

          ดร.นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเป็นโรคเรื้อรัง ปี 2556 จำนวน 2.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เสียชีวิตปีละกว่า 1.2 แสนคน ไม่รวมคนไข้ที่มีปัญหาทางจิตผิดปกติ ปีละ 1 ล้านคนเศษ ต้องใช้ยา จากต่างประเทศ ปีละกว่า 100,000 ล้านบาทและเป็นค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพ ประมาณ 4 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของชาติ ในบรรดาการรักษาโดยไม่ต้องใช้ยาของศาสตร์การแพทย์ทางเลือก การสวดมนต์ถือเป็นทางออกอย่างหนึ่งที่จะบำบัดโรคดังกล่าวได้ ซึ่งการสวดมนต์บำบัดไม่ใช่แค่รักษาโรคทางใจแต่บำบัดโรคทางกายได้ผลดี มีงานวิจัยจากหลายสถาบัน ที่เป็นหลักฐานอ้างอิงเชิงประจักษ์

          การสวดมนต์บำบัด คือ หลักการหนึ่งของ Vibrational Therapy คือการใช้คุณสมบัติของคลื่นบางคลื่น มาบำบัดความเจ็บป่วย สำหรับการสวดมนต์ด้วยตัวเอง เป็นการเหนี่ยวนำตัวเอง ถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะหาก ใครสักคนคิดที่จะสวดมนต์ นั่นหมายความว่าเขากำลังมีความปรารถนาดีต่อตนเอง โดยวิธีการสวดมนต์ด้วยตนเอง ควรปฏิบัติดังนี้ การสวดด้วยตนเองไม่ควรสวดมนต์หลังกินอาหารทันที ควรทิ้งช่วงให้ร่างกายเริ่มผ่อนคลาย อาจเป็นเวลาก่อนเข้านอน หาสถานที่ที่เงียบสงบ สวดบทสั้นๆ 3 – 4 พยางค์ โดยใช้เวลาประมาณ 10 – 15 นาทีขึ้นไป จะทำให้ร่างกายได้หลั่งสารซีโรโทนิน(เป็นสารสื่อประสาท ซึ่งมีบทบาทหน้าที่เช่น การควบคุมความหิว อารมณ์ และความโกรธ) แต่หากสวดมนต์ด้วยบทยาวๆ จะได้ความผ่อนคลายและความศรัทธา ที่ผ่านมาได้มีการวิจัยการสวดมนต์บำบัดในผู้ป่วยโรคดังต่อไปนี้แล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคเครียด โรคซึมเศร้า ปวดหัวไมเกรน และนอนไม่หลับ เป็นต้น

          ทางกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกพร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ร่วมผลักดัน การสวดมนต์บำบัดไปสู่ชุมชน โดยคาดว่าประชาชนในชุมชนโดยฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นการสร้างความสงบสุขให้คนไทยหันมาสวดมนต์เพื่อสร้างความสงบสุขทั้งด้านร่างกายจิตใจของตนเอง โดยตั้งเป้า ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศกว่า 9,000 แห่ง และโรงเรียนในเขตชุมชน ทำหน้าที่ส่งเสริม ให้ประชาชนสวดมนต์อย่างต่อเนื่อง

Pin It
facebook