แถลงข่าว 14 รพ.ทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรักษามะเร็งด้วยตำรับเบญจอำมฤตย์
วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 เวลา 11.30 น. ที่โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน ยศเส ดร.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกพร้อมคณะ ร่วมแถลงข่าวแก่สื่อมวลชน เกี่ยวกับการการขยายการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้าย ด้วยตำรับเบญจอำมฤตย์ ใน 14 โรงพยาบาลทั่วประเทศที่เข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพระบบบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ดร.นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า จากสถิติผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2557 มีจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 3,147 คน แยกเป็นชาย 1,702 คน หญิง1,445 คน โดยมีผู้ป่วยมะเร็งแบ่งตามกลุ่มโรคอาการได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม มะเร็งถุงน้ำดี และมะเร็งท่อน้ำดี โดยเฉพาะมะเร็งตับที่เข้ารับการรักษาด้วยตำรับเบญจอำมฤตย์มีทั้งหมด 2,200 ราย จากแนวโน้มผู้ป่วยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กรมจึงได้จัดทำโครงการประชุมสัมมนาเพื่อชี้แจงแนวทางการใช้ตำรับยาเบญจ อำมฤตย์ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพระบบบริการการแพทย์แผนไทย จำนวน 14 แห่ง ซึ่งได้เกิดความร่วมมือการใช้ตำรับยาเบญจอำมฤตย์ในการดูแบผู้ป่วยมะเร็งตับ ระหว่างกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกับของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพระบบบริการการแพทย์แผนไทย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวทางใช้ตำรับยาเบญจอำมฤตย์ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายก็ได้แก่ บุคลากรในโรงพยาบาล เช่น แพทย์แผนปัจจุบัน เภสัชกร พยาบาล แพทย์แผนไทบ เวชระเบียน ซึ่งทางกรมจะกระจายยาเบญจอำมฤตย์ไปทั้ง 14 รพ.ทั่วประเทศและพร้อมให้บริการผู้ป่วยพร้อมกันในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ขณะนี้กำลังการผลิตยาทางโรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแหล่งผลิตสนับสนุนในเบื้องต้น และตามมาด้วยโรงพยาบาลวังน้ำเย็นหรือโรงพยาบาลไหนที่มีความพร้อมด้านการผลิตยาที่ผ่านมาตรฐาน GMP และพร้อมดำเนินการผลิต ก็สามารถดำเนินการผลิตได้ในลำดับต่อไป
สำหรับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 14 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี, โรงพยาบาลวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว, โรงพยาบาลวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว, โรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี, โรงพยาบาลขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ, โรงพยาบาลสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร, โรงพยาบาลเทิง จังหวัดเชียงราย, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จังหวัดแพร่, โรงพยาบาลวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี, โรงพยาบาลเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี, โรงพยาบาลท่าโรงช้าง จังหวัด สุราษฎร์ธานี, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ และโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กรุงเทพมหานคร
ดร.นพ.ธวัชชัย กล่าวในตอนท้ายว่า ต่อไปผู้ป่วยจะได้รับการติดตามการใช้ยาได้สะดวกขึ้น เข้าถึงบริการยาได้มากขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายของญาติและผู้ป่วย และผู้ป่วยจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดขึ้นต่อไป