งานแถลงข่าว เตรียมรับภาวะวิกฤตอุณหภูมิสูงด้วยภูมิปัญญาไทย
วันนี้(29 เมษายน 2557) ที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จังหวัดนนทบุรี ดร.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าวสื่อมวลชนเกี่ยวกับการรับภาวะวิกฤตอุณหภูมิสูงของประเทศไทยและพายุฤดูร้อนด้วยภูมิปัญญาไทยและสมุนไพรว่า สภาพอากาศร้อนจัดเป็นสาเหตุสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพ ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ การเจ็บป่วยจากภาวะร้อนจัด พบได้ในกลุ่มที่มีอาการเล็กน้อยตั้งแต่ผื่นคัน การคั่งของสารน้ำที่หลอดเลือดขยายตัว อาการของตะคริวเกิดจากกล้ามเนื้อมีการเกร็งร่างกายเสียเหงื่อมาก อาการเป็นลม หน้ามืด เพลียแดด อาจพบอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้คือ โรคลมแดด ที่เกิดจากคลื่นความร้อนในหน้าร้อน
สิ่งที่อยากแนะนำคนทำงานในที่ร้อนคือ ยาหอมที่อยู่เคียงคู่มากับคนไทยมาช้านาน โดยยาหอมหนึ่งตำรับ มีส่วนผสมจากสมุนไพรไม่น้อยกว่า 40 ชนิด ได้แก่ ลูกจันทน์ ดอกจันทร์ ลูกกระวาน กานพลู จันทร์แดง จันทน์ขาว กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก ชะลูด อบเชย เปราะหอม แฝกหอม ผิวมะกรูด ผิวมะงั่ว ผิวมะนาว ผิวส้มตะรังกะนู ผิวส้มจีน ผิวส้มโอ ผิวส้มเขียวหวาน ผิวส้มซ่า ดอกพิกุลทอง ดอกบุญนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง ดอกบัวขม ดอกบัวเผื่อน ชะมดเช็ด การบูร โกศสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐจุฬาลัมพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวภาณี เทียนสัตตบุตย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ พิมเสน ดอกมะลิ ปัจจุบันที่ใช้เป็นกลุ่มแก้ลมวิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน และกลุ่มบำรุงหัวใจ เช่น ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมอินทจักร ยาหอมนวโกฐ
ในช่วงหน้าร้อนที่อากาศร้อนจัดนี้ นอกจากตำรับยาหอมแล้ว ขอแนะนำน้ำตำรับเบญจเกสรหรือเกสรทั้งห้าประกอบด้วย ดอกพิกุล มีรสเย็น แก้จับไข้ แก้ไข้หมดสติ บำรุงหัวใจ แก้เจ็บคอ แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ดอกบุนนาค สรรพคุณ แก้ไข้ แก้ลมหาวเรอ แก้ตามัว บำรุงธาตุ ขับลม บำรุงเลือด บำรุงหัวใจ ดอกสารภี แก้โลหิตพิการ เจริญอาหาร เป็นยาหอม บำรุงหัวใจ ชูกำลัง ดอกมะลิ สรรพคุณ มีรสเย็น บำรุงหัวใจ เป็นยาชูกำลัง และเกสรบัวหลวง ทำให้สดชื่น แก้หน้ามืด
ที่ผ่านมามีการนำตำรับดังกล่าวมาผสมฝางเสน ซึ่งเป็นเนื้อไม้ที่มีสรรพคุณ บำรุงเลือด บำรุงหัวใจ ผสมอบเชย แก้อ่อนเพลีย บำรุงธาตุ กฤษณา บำรุงเลือด แก้ท้องร่วง อาเจียน จันทน์แดง บำรุงเลือด นอกจากนี้ยังมีโกฐหัวบัว โกฐเขมา โกฐสอ โกฐเชียง ที่เป็นส่วนผสมตามตำรับยาโบราณ ช่วยขับลม บำรุงเลือด บำรุงหัวใจ แก้ไข้ แก้ไอ ได้ดี ที่รู้จักกันในชื่อน้ำยาอุทัย หยดใส่น้ำดื่ม
สำหรับอาหารแนะนำรับประทานอาหารที่มีรสขม รสเย็น จะเป็นพืช ผักหรือผลไม้ก็ได้ นำมาปรุงเป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม เพื่อเหมาะกับอากาศในช่วงหน้าร้อน เน้นพืชผักและผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็นเป็นหลัก เมนูอาหารคลายร้อนที่แนะนำ ได้แก่ มะระทรงเครื่อง มะระมีสรรพคุณที่สำคัญคือเป็นยาดับร้อน ถอนพิษไข้ แก้กระหาย บรรเทาอาการร้อนใน แก้อักเสบ เจ็บคอ อาหารประเภทแกงจืด อาจเป็นแกงจืดฟักเขียว แกงจืดตำลึง แกงจืดมะระยัดไส้ แกงขี้เหล็ก เป็นต้น ถือว่าเหมาะกับอากาศในช่วงหน้าร้อน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีเครื่องดื่มสมุนไพร ได้แก่น้ำย่านาง ใบย่านางมีฤทธิ์เย็นจึงใช้ใบย่านางปรับสมดุล น้ำบัวบก แก้ร้อนในกระหายน้ำ ลดอาการปวดศีรษะข้างเดียว บำรุงสมอง บำรุงหัวใจ น้ำกระเจี๊ยบ สรรพคุณช่วยรักษาอาการร้อนในภายในช่องปาก ลดความดันโลหิต น้ำตรีผลา เป็นยาปรับธาตุในหน้าร้อน มีสรรพคุณช่วยรักษาความสมดุลธาตุทั้ง 4 ของร่างกาย น้ำใบเตย ช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยลดอาการกระหายน้ำ ทำให้ชุ่มชื่น น้ำมะนาว ช่วยย่อยอาหาร ป้องกันท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ไอ ขับเสมหะ น้ำมะพร้าว ช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย คลายความร้อน ดับกระหาย
เมื่ออากาศร้อนจัดสิ่งที่ตามมาคือ พายุฤดูร้อน ภาวะนี้ก่อให้ร่างกายปรับตัวไม้ทันก็ป่วยได้ เนื่องจากภาวะร้อนจัดกระทบไอเย็นจากละอองฝนจะป่วยด้วยไข้หวัด เจ็บคอ แนะนำฟ้าทะลายโจร และกล่องยาแผนไทยประจำบ้าน และที่สำคัญที่อยากแนะนำการดูแลผิวหน้าร้อน สวยด้วยสมุนไพรที่นิยมทำเครื่องสำอางใช้หน้าร้อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากแตงกวา ช่วยเรื่องผิวไหม้แดด ครีมพญายอ ขมิ้น ช่วยเรื่องผดผื่นคัน ว่านหอมกันแดดแบบธรรมชาติ สบู่หรือครีมมังคุดลดเหงื่อ ระงับกลิ่น ลดสิวกำเริบในหน้าร้อน