สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (TPBS) สัมภาษณ์ประเด็น สมุนไพรรสหวานทดแทนน้ำตาล
วันนี้ (9 ตุลาคม 2558) ที่ห้องรับรองสื่อมวลชน สำนักงานสื่อสารองค์กร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จ.นนทบุรี นายนิเวศน์บวรกุลวัฒน์ แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ กลุ่มงานนวดไทย สถาบันการแพทย์แผนไทย ให้สัมภาษณ์นักข่าวสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส (TPBS) เกี่ยวกับประเด็น สมุนไพรรสหวานทดแทนความหวานจากน้ำตาล จากนโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการบริโภคน้ำตาลทรายให้เหลือเพียงวันละ 4 กรัม เนื่องจากพบว่าอันตรายของน้ำตาลทรายที่มากเกินความจำเป็นของร่างกายจะก่อให้เกิดโรคต่างๆได้
ทั้งนี้ในอดีต บรรพบุรุษของไทยมีการบริโภคความหวานจากพืช หรือสารให้ความหวานจากธรรมชาติ เพราะสิ่งที่มาจากธรรมชาติร่างกายจะไม่ก่อให้เกิดโรค พืชสมุนไพรหรือสารให้ความหวานตามธรรมชาติที่อยากจะขอแนะนำ มี 2-3 ตัว ได้แก่
ตัวที่ 1 หญ้าหวาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stevia Rebaudiana Bertoni อยู่ในวงศ์ Asteraceae (Compositae ) หญ้าหวานเป็นพืชจากธรรมชาติที่ให้ความหวานที่มากกว่าน้ำตาลทราย 150-300 เท่า สารที่ได้จากความหวานของหญ้าหวานเป็นสารที่ได้จากธรรมชาติอย่างแท้จริง เป็นความหวานที่ไม่มีแคลอรี่ และไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำตาลในร่างกาย เพราะกินเข้าไปร่างกายก็ขับออกไม่สะสม จึงเหมาะกับผู้ที่ควบคุมน้ำหนัก หรือผู้ป่วยเบาหวาน วิธีรับประทานก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่นำใบหญ้าหวานมาผสมกับเครื่องดื่ม หรืออาจใช้สารสกัดจากหญ้าหวานที่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปมาใช้ผสมกับเครื่องดื่ม หรืออาหารคาวหวานได้ตามชอบใจ หญ้าหวานมีความทนทานต่อกรดและความร้อน และไม่ถูกย่อยสลายด้วยสารจุลินทรีย์ เมื่อใช้หญ้าหวานกับอาหารหรือเครื่องดื่มจึงไม่ทำให้เกิดการเน่าเสีย และไม่กลายเป็นสีน้ำตาลเมื่อผ่านความร้อนสูงอีกด้วย ซึ่งก็ทำให้ถูกนำไปใช้ในการผลิตอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิดอย่างเช่น น้ำอัดลม น้ำชาเขียว ขนม เบเกอรี่ แยม เยลลี่ ไอศกรีม ลูกอม หมากฝรั่ง ซอสปรุงรส นอกจากนี้ สารสตีวิโอไซด์ยังถูกใช้ในการผลิตยาสีฟันในปัจจุบันอีกด้วย
ตัวที่ ๒ ชะเอมเทศ มีสรรพคุณช่วยทำให้ชุ่มคอ แก้น้ำลายเหนียว แก้คอแห้ง ช่วยให้สดชื่น เนื่องจากรากของชะเอมเทศมีสาร glycyrrhizin (หรือ glycyrrhizic acid หรือ glycyrrhizinic ชะเอมเทศ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Albizia myriophylla Benth acid) จึงให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 50-100 เท่า รากชะเอมเทศ จึงถูกนำไปแต่งรสอาหาร ปรุงยาสมุนไพร หรือใช้แต่งรสหวานในขนมและลูกอม วิธีใช้ แค่นำราก หรือเนื้อไม้ของชะเอมเทศใส่ลงอาหารควรบดใส่ในอาหาร ถ้าเป็นเครื่องดื่มต้มหรือใส่รากหรือเนื้อไม้ลงในเครื่องดื่มได้ในปริมาณตามชอบใจ แต่ชะเอมเทศไม่นิยมใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงหรือมีภาวะโพแทสเซียมต่ำ และมีคำเตือนว่าไม่ควรใช้ในขนาดที่มากกว่า 50 กรัม ต่อวัน เกินกว่า 6 สัปดาห์ เพราะจะทำให้เกิดการสะสมน้ำในร่างกาย เกิดการบวมที่มือและเท้า สารโซเดียมถูกขับได้น้อยลง ขณะที่สารโพแตสเซียมถูกขับมากขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ และไม่ควรใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ
ตัวที่ 3 น้ำตาลจากธรรมชาติ เช่น น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลโตนด คำว่าน้ำตาล อาจทำให้คนคิดว่าน้ำตาลทุกชนิดต้องให้แคลอรี่สูง แต่น้ำตาลจากธรรมชาตินั้นไม่ใช่ เช่น น้ำตาลมะพร้าว 1 ช้อนชา ให้พลังงาน 15 แคลอรี่ต่ำกว่าน้ำตาลทราย 1 ช้อนชา ที่ให้พลังงาน 20 แคลลอรี่ แต่น้ำตาลมะพร้าวจัดอยู่ในกลุ่มอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำคือ 35 จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงขึ้นเร็วจนเกินไป ดังนั้นจะทำให้อินสุลินเพิ่มระดับตามอย่างช้าๆ ทำให้รู้สึกอิ่มนาน น้ำตาลมะพร้าวมีส่วนประกอบของน้ำตาลซูโครส กลูโคส และฟรุกโตส และมีเกลือแร่อื่นๆ ซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้ได้เช่น โปแทสเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส ไนอะซิน เป็นต้น
ส่วนน้ำตาลโตนด ทำกินกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ซึ่งการทำต้องดูต้นตาลด้วยว่าอายุได้ที่หรือยัง เพราะต้องใช้ตาลที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป การกินน้ำตาลโตนดข้อดีคือ ผ่านการแปรรูปแค่ครั้งเดียวต่างกับน้ำตาลทรายที่ผ่านกระบวนหลายขั้นตอน ซึ่งทั้งหมดนั้น เป็นสารให้ความหวานจากธรรมชาติมีประโยชน์แต่ต้องรับประทานในขนาดที่เหมาะสมและออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่าลืมว่า เรารับประทานอะไรเข้าไปร่างกายเราก็จะได้ประโยชน์ตามนั้น เลือกรับประทานอาหาร และสารอาหารจากธรรมชาติ เพื่อร่างกายและสุขภาพที่ดีของเราเอง
๙ ตุลาคม 2558 ภาพและข้อมูลโดย กลุ่มงานสื่อสารสุขภาพ สำนักงานสื่อสารองค์กร (สสอ.)
|