Page 3 - จุลสารกรมแพทย์แผนไทยฯ ประจำเดือนเมษายนเดือน 2562
P. 3
สมุนไพร/ตำรับยาสมุนไพร
ช่วยปรับสมดุลในฤดูร้อน
พท.ป.รสรินทร์ ไพฑูรย์
ความรู้บทที่หนึ่ง ของหมอพื้นบ้านหรือหมอแผนโบราณนั้น คือ รู้ที่ตั้งที่แรกเกิดของโรค มีปัจจัยสำคัญหนึ่งใน 5 อย่าง คือ
ธาตุ ธาตุมีความสำคัญ มนุษย์เราต้องประพฤติในธาตุ ซึ่งมีอยู่ในร่างกายของตนให้สม่ำเสมอ หรือดำรงตนให้ปกติ พฤติกรรม
การดำรงชีวิตต้องสมดุล โดยเฉพาะด้านอาหารสภาพแวดล้อมและอากาศที่เปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนจากฤดูกาลหนึ่งไปสู่ฤดูกาลหนึ่ง
เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบธาตุภายในร่างกาย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยได้เช่นกัน การดูแลสุขภาพ
ตามหลักแพทย์แผนไทยถือเป็นองค์ความรู้หนึ่งที่จะช่วยรักษาสมดุลของธาตุในร่างกาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย
เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน อาการที่มักพบบ่อยในคนทั่วไป ได้แก่ อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย ใจสั่นจากการเสียเหงื่อ จนถึง
ภาวะของโรคลมแดด หรือฮีตสโตรก ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับความร้อนที่เกิดขึ้นได้ การป้องกันที่ง่าย คือ
ควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หลีกเลี่ยงอากาศร้อนถ่ายเทไม่สะดวก และหากรู้สึกเหนื่อยหรือร้อนมากควรรีบ
พักทันที ควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนและหลังออกกำลังกาย สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี นอกจากนี้หลายคนอาจจะ
ต้องการวิธีดับร้อน เพื่อรักษาสมดุลของอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่ หลักการปรับสมดุลโดยใช้สมุนไพร คือ เลือกสมุนไพรฤทธิ์เย็น
เพื่อดับร้อน ซึ่งสมุนไพรและตำหรับยาสมุนไพรที่ใช้ได้ดี และเป็นที่รู้จัก คือ
ตำรับตรีผลาหรือตรีผล ประกอบด้วยผล 3 ชนิด ได้แก่ สมอไทย (Terminalia chebula Retz) สมอพิเภก
(Terminalia belerica (Gaertn) Roxb) และมะขามป้อม (Phyllanthus emblica L.) ยาตำรับตรีผลาสามารถใช้ได้ใน
ทุกเพศทุกวัย และใช้ได้กับคนทุกธาตุ เป็นยาปรับธาตุในฤดูร้อน สรรพคุณช่วยรักษาความสมดุลธาตุทั้ง 4 ของร่างกาย
วิธีการเตรียมยาตำรับตรีผลา เพื่อดับร้อน จะผสมสมุนไพรในอัตราส่วน สมอพิเภก 12 ส่วน สมอไทย 8 ส่วน และมะขามป้อม
4 ส่วน ผสมน้ำ 3 ลิตร ต้มให้เดือดเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน เทกรองกากออก ดื่ม 10 ซีซี ก่อนอาหารเช้า - เย็น
สำหรับกรณีปรุงเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ใช้อัตราส่วน 1:1:1 เติมน้ำ 3 ลิตร หรือเจือจางกว่านี้
เติมเกลือ น้ำตาลปรุงรสตามชอบ ชงดื่มในน้ำแข็ง ช่วยให้สดชื่นคลายร้อน
ย่านาง (Tiliacora triandra (Colebr.) Diels) จัดเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น ช่วยปรับสมดุล
ในฤดูร้อน และช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกายได้ อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำ ให้ใช้ใบย่านางกับ
ผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตผิดปกติ เนื่องจากใบย่านาง มีฟอสฟอรัส วิตามินเอ และโพแทสเซียมสูง
อาจทำให้เกิดการสะสมจนเป็นเกิดพิษต่อร่างกายได้ วิธีการเตรียมน้ำใบย่านาง คือ ใช้ใบ
ย่านาง 10-20 ใบ นำไปโขลกหรือปั่นด้วยเครื่องปั่นให้ละเอียด เสร็จแล้วนำมากรองผ่านผ้าขาวบาง
หรือกระชอน ก่อนรับประทาน
บัวบก (Centella asiatica Urban) เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น สรรพคุณบำรุงสมอง
บำรุงหัวใจ ลดอาการปวดศีรษะข้างเดียว เหมาะสำหรับเป็นเครื่องดื่มในฤดูร้อน เนื่องจากสามารถ
ดับความร้อนในร่างกาย แก้ร้อนใน และลดอาการตัวร้อน ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ และช่วยเพิ่ม
ความสดชื่นได้ดี วิธีการเตรียมน้ำใบบัวบก ใช้ต้นสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ตำคั้นน้ำ กรองแล้วดื่ม
ดอกมะลิ (Jasminum sambac Ait.) จัดอยู่ในวงศ์ Oleaceae รสหอมเย็น สรรพคุณ
บำรุงหัวใจ ทำให้ชื่นใจ แก้อ่อนเพลีย ชูกำลัง แก้ร้อนในกระหายน้ำ น้ำแช่ดอกมะลิสด
ช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ในตำรายาไทย มีการนำดอกมะลิ ผสมเข้าในตำรับยาหอม มีสรรพคุณ
บำรุงหัวใจ ทำจิตใจให้ชุ่มชื่น แก้ลมวิงเวียนได้ ตัวอย่างยาหอมที่มีดอกมะลิเป็นส่วนประกอบ
เช่น ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ ยาหอมทิพโอสถ และยาหอมอินทจักร์ เป็นต้น