Page 2 - จุลสารกรมแพทย์แผนไทยฯ ประจำเดือนมีนาคม 2562
P. 2

กัญชาทางการแพทย์ : ก้าวย่างที่สำคัญของ



             การพัฒนาสมุนไพรและยาแผนไทยในประเทศไทย






                ดร.ภญ.ดวงแก้ว  ปัญญาภู

                    หากพูดถึง กัญชา (Cannabis sativa L.) หลายคนคงนึกถึง
              ยาเสพติดที่ทำให้ผู้เสพมีอาการเคลิ้มฝันหรือประสาทหลอน

              แต่ในความเป็นจริงการแพทย์พื้นบ้านหลายภูมิภาคของโลก
              มีการใช้ประโยชน์จากกัญชามาตั้งแต่โบราณกาล ทั้งในรูปแบบของการใช้เป็น
              ส่วนประกอบของอาหาร และยารักษาโรค สำหรับประเทศไทยปรากฏหลักฐาน
              การใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ ทั้งการแพทย์แผนไทย
              และการแพทย์พื้นบ้านในหลายภูมิภาค เช่น หมอพื้นบ้านทางภาคใต้ใช้กัญชารักษา

              อาการปวด คลายเครียด และรักษาอาการผมร่วง ขณะที่หมอพื้นบ้านทางภาคเหนือ
              ใช้เป็นส่วนประกอบของยาคุมกำเนิด ในตำรายาแผนไทยก็มีการกล่าวถึงกัญชา
              ในหลายตำรับ เช่น ตำรับทิพกาศ ตำรับยาแก้ไกษยเหล็ก ไกษยเสียด

              ไกษยกล่อน 5 ประการ และตำรับยาแก้ปวดมุตคาต ใช้เป็นยาแก้ปวด
              ตำรับศุขไสยาศน์ ช่วยทำให้จิตใจเบิกบาน กล่อมประสาท และช่วยให้นอนหลับ
              ตำรับยาแก้ลงแก้บิด ใช้รักษาโรคบิดหรือท้องร่วง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม
              หลังจากองค์การสหประชาชาติจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติด ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศให้กัญชาจัดเป็นยาเสพติดให้โทษ
              ประเภทที่ 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เช่นกัน ซึ่งตั้งแต่นั้นมา การปลูก การครอบครอง การจำหน่าย หรือ

              การบริโภคกัญชา จึงเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ส่งผลให้การวิจัยและพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์พลอยชะงักงันไปด้วย
                    ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติและหลายประเทศมีการทบทวนมาตรการเพื่อปฏิรูปกฎหมายยาเสพติด
              โดยอนุญาตให้มีการครอบครองวัตถุเสพติดประเภทกัญชาเพื่อการศึกษาวิจัย จึงทำให้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ออกมา
              มากมายที่พบว่าสารสำคัญกลุ่ม Cannabinoids จากกัญชา เช่น Tetrahydrocannabinol (THC), Cannabidiol (CBD)
              และ ยาแผนปัจจุบันที่มีสารกลุ่ม Cannabinoids เป็นตัวยาสำคัญ มีประสิทธิผลในการรักษาโรคหลายชนิด อาทิ อาการ
              ปวดเรื้อรัง โดยเฉพาะอาการปวดจากปลายประสาท หรือปวดจากโรคมะเร็ง ภาวะกล้ามเนื้อเกร็งเนื่องจากภาวะปลอก
              ประสาทอักเสบ และน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่มีภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากการได้รับเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายาก

              และดื้อต่อยาในเด็ก โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ วิตกกังวล ผู้ป่วยในระยะประคับประคอง และผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะ
              สุดท้าย ซึ่งต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป
                    ปัจจุบัน มีข่าวดีจากองค์การอนามัยโลกว่ามีแนวโน้มที่จะถอดกัญชาออกจากบัญชีพืชเสพติด
              ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศไทย ที่ปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7
              อนุญาตให้สามารถใช้กัญชาทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยในประเทศไทยได้ ซึ่งระหว่างนี้จะมีการร่างกฎหมาย
              ลำดับรอง เพื่อวางระบบการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ให้ครบวงจร ซึ่งได้แก่ การปลูก ปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อ
              ผลิตสารสำคัญ พัฒนาผลิตภัณฑ์ การศึกษาวิจัยและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ตลอดจนถึงการควบคุม
              กำกับการใช้
                    กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในฐานะของหน่วยงานที่ดูแลกำกับการใช้
              ประโยชน์จากตำรับยาไทยและสมุนไพร จึงมีภารกิจที่จะส่งเสริมการศึกษาวิจัยตำรับยาไทยที่เข้ากัญชา
              เพื่อการใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต เบื้องต้นสถาบันการแพทย์แผนไทย พบว่ามีตำรับยาที่มีกัญชา
              เป็นส่วนประกอบในตำราคัมภีร์ต่าง ๆ ประมาณ 90 ตำรับ ในจำนวนนี้มี 16 ตำรับ เป็นตำรับยาที่เป็นที่รู้จัก

              ปลอดภัย และตัวยาหาได้ง่าย ซึ่งจะได้คัดเลือกตำรับที่มีศักยภาพมาศึกษาวิจัยต่อไป นอกจากนี้ ในส่วนของ
              กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพรได้มีการเตรียมการผลิตยาแผนไทยบางตำรับข้างต้น และเครื่องยากลาง
              ที่มีกัญชาผสมกับตัวยาอื่น เช่น พริกไทย สำหรับแพทย์แผนไทยที่ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียน
              ได้ใช้สำหรับปรุงยารักษาผู้ป่วยต่อไป
   1   2   3   4