Page 4 - จุลสารกรมการแพทย์แผนไทยฯ ปีที่3 ฉบับที่ 6 ประจำเดือน มิถุนายน 2563
P. 4
กระชายดำ
ภญ.พิชญารัตน์ วรรณวุฒิกุล
สมุนไพรไทยมีคุณประโยชน์มากมาย หนึ่งในนั้น คือ “กระชายดำ” หรือที่เรียกกันว่า โสมไทย ซึ่งเชื่อกันว่า
เป็นยาสมุนไพรอายุวัฒนะชั้นดี กระชายดำเป็นที่รู้จักและมีการใช้กันมาอย่างยาวนาน ตามภูมิปัญญาชาวเขา กระชายดำช่วยบำรุงกำลัง
แก้ปวดเมื่อยและอาการเหนื่อยล้า ช่วยให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย ขับลม แก้จุกเสียด แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
และใช้เป็นยาอายุวัฒนะ กระชายดำเป็นหนึ่งในสมุนไพร Product Champion ที่สามารถพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่า
ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพสูงในเชิงพาณิชย์
กระชายดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Kaempferia parviflora Wall. ex Baker เป็นพืช
ในวงศ์เดียวกับ กระชาย ข่า ขิง และขมิ้น (Zingiberaceae) เป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน เหง้า
รูปทรงกลม เรียงต่อกัน มักมีขนาดเท่า ๆ กัน หลายเหง้า เนื้อภายในเหง้ามีสีม่วงอ่อน ม่วงเข้ม จนถึง
สีม่วงดำ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสชาติขมเล็กน้อย เป็นส่วนที่ใช้ทำยาและอาหาร สารสำคัญที่พบ
ในเหง้ากระชายดำส่วนใหญ่เป็นสารกลุ่มเฟลโวนอยด์ และน้ำมันหอมระเหย มีการศึกษาวิจัย
เกี่ยวกับฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดกระชายดำทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง พบว่า
กระชายดำมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านภูมิแพ้ ลดน้ำหนัก ขยายหลอดเลือด
เพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะเพศและมีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบของ
อวัยวะเพศผู้ของสัตว์ทดลอง การศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดีเพศชาย อายุเฉลี่ย 65.05±3.5 ปี
ที่รับประทานแคปซูลสารสกัดเอทานอลจากกระชายดำ ขนาด 25 และ 90 มก./วัน เป็นเวลา
2 เดือน พบว่าสารสกัด ขนาด 90 มก./วัน มีผลเพิ่มการตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางเพศของอาสาสมัครได้
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการศึกษาในคนยังมีน้อย จึงยังไม่มีคำแนะนำเรื่องขนาดที่เหมาะสมและ
ข้อมูลเรื่องความปลอดภัยเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และควรระวังการใช้ร่วมกับ
ยาแผนปัจจุบันเช่น ยา sildenafil (ยาไวอากร้า) เพราะอาจเสริมฤทธิ์กันจนทำให้เกิดผลข้างเคียง
จากการใช้ยาได้
ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ของกระชายดำวางจำหน่ายในท้องตลาดในหลากหลายรูปแบบ
เช่น ชาชง ยาแคปซูล ยาน้ำ ยาเม็ด กาแฟ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และไวน์กระชายดำ
ผลิตภัณฑ์ยาจากกระชายดำที่ได้รับการขึ้นทะเบียน มีข้อบ่งใช้ในการช่วยบำรุงร่างกาย
อย่างไรก็ตาม มีบางรายงานที่ระบุว่ากระชายดำในรูปแบบการรับประทานทำให้ตับเกิดความผิดปกติได้ หากใช้
ในขนาดสูงหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้น ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับตับจึงควรหลีกเลี่ยง นอกจากนี้ ไม่ควรใช้ใน
เด็กหรือสตรีมีครรภ์ เนื่องจากยังขาดข้อมูลด้านความปลอดภัย และควรระมัดระวังการใช้ในผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น
โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต และผู้ป่วยที่มีการใช้ยาหลายชนิดเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนรับประทาน
เอกสารอ้างอิง
คณะผู้จัดทำ
ที่ปรึกษา นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
บรรณาธิการ นายแพทย์สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
บรรณาธิการรอง ดร.เภสัชกรหญิงอัญชลี จูฑะพุทธิ ที่ปรึกษากรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กองบรรณาธิการ ดร.เภสัชกรหญิงดวงแก้ว ปัญญาภู ภญ.สุภาพร ยอดโต ภญ.เกษวราภรณ์ วงษ์พิมพ์
พท.สุนิสา หลีหมุด พท.ป.เย็นภัทร คำแดงยอดไตย พท.ป.ประดิษฐา ดวงเดช พท.ป.ชลทิวา ทองรัตน์
นายกฤษณะ คตสุข นางสาวธัญลักษณ์ พลอยงาม นายชูศักดิ์ เฮงเจริญ กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
ท่านสามารถเข้าไปอ่านบทความและดาวน์โหลด กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
จุลสารฉบับอิเลคทรอนิกส์ ได้ที่
https://tpd.dtam.moph.go.th/index. @DTAM
php/news-ak/dtam-news-ak
และสามารถส่งข้อคิดเห็นมาที่ เลขที่ 88/23 หมู่ 4 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ
อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
enewsletters.dtam@outlook.co.th โทรศัพท์ 0-2591-7007 โทรสาร 0-2591-7007