Page 3 - จุลสารกรมแพทย์แผนไทยฯ ปีที่2 ฉบับที่ 14 ประจำเดือนธันวาคม 2562
P. 3

ยาหอม…ยาสามัญ ที่ไม่ธรรมดา



                              (ตอนที่ 1 ยาหอม มรดกไทย ภูมิปัญญาไทย)





                                                                  พท.ชัยพร กาญจนอักษร, พท.ป.ผุสชา จันทร์ประเสริฐ




            พบกับบทความยาหอมอีกครั้ง หลังจากที่เคยบอกเล่าในหัวข้อเรื่องยาหอม : ยาไทย ยาดี
     ไม่เชยอย่างที่คิด ในจุลสาร ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 กันบ้างแล้ว โอกาสนี้จะเน้นย้ำว่า ยาหอมเป็นยาที่ช่วย
     ดูแลสุขภาพของคนทุกกลุ่มวัย ไม่จำเฉพาะว่าต้องเป็นผู้สูงวัยเท่านั้น โดยมีเรื่องราวที่ชวนให้ติดตาม

     กันถึง 4 ตอน เพื่อให้ทุกท่านได้เรียนรู้ ซึมซับ เรื่องราวดี ๆ ของยาหอม เพื่อให้ รู้จัก เชื่อมั่น ชอบ และ
     ใช้ เพื่อดูแลสุขภาพของทุกคน
            ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเมืองไทย คือ ประเทศในเขตร้อนชื้น ทำให้ผู้คนมีโอกาส
     เจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคลมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งโรคลมทางการแพทย์แผนไทยนั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่
     คือ ลมกองหยาบ เป็นลมที่เกิดในช่องท้อง เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหาร มักให้มีอาการท้องอืด
     ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย จุกเสียด หากไม่รักษาจะทำให้เกิดความเสียสมดุล ทำให้มีอาการท้องผูก
     หรือ ท้องเสีย ต้องใช้ยาลมเพื่อรักษาอาการดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่มักมีรสประธานยาเป็นรสร้อน และ
     ลมกองละเอียด คือ ลมที่มีความละเอียดอ่อน ทำหน้าที่พัดเอาสารอาหารไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของ
     ร่างกาย หากลมกองหยาบมีความผิดปกติและไม่รีบรักษา จะแปรเปลี่ยนให้ลมกองละเอียดตีขึ้น

     ทำให้มีความผิดปกติ และเกิดอาการต่าง ๆ เช่น แน่นหน้าอก มีลมจุกในคอ วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด
     ตาลายคล้ายจะเป็นลม ฯลฯ อาการดังกล่าวนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยยาหอมที่มีรสประธานรสสุขุม
     และอาศัยความหอมของเครื่องยาเป็นตัวช่วยสำคัญให้ลมสามารถเคลื่อนไปได้สะดวก ช่วยปรับ
     สมดุลของลมในร่างกาย ทำให้จิตใจชุ่มชื่น มีอารมณ์ที่สงบได้นั่นเอง
            หากย้อนประวัติของยาหอมนั้นอยู่คู่กับคนไทยมามากกว่า 200 ปี จากหลักฐานที่ปรากฏใน
     ตำราพระโอสถพระนารายณ์ มีตำรับที่น่าสนใจ โดยเฉพาะยาหอมดุมและยามโหสถธิจันทน์ ซึ่งต่าง
     เป็นยารักษาพิษไข้สันนิบาตรุนแรง และ ยาทรงทาพระนลาฎ ช่วยแก้เลือดกำเดาที่ทำให้ปวดศีรษะ

     โดยตำรับที่ยกมาส่วนใหญ่มีเครื่องยาที่มีกลิ่นหอม หากวิเคราะห์ตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย
     ความหอมของเครื่องยามีส่วนช่วยให้ลมในร่างกายไหลเวียนดีขึ้น ช่วยบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น และ
     ทำให้มีกำลัง ซึ่งช่วยให้อาการไข้ทุเลาลงได้ นอกจากนี้ในพระคัมภีร์การแพทย์แผนไทยอื่น ๆ พบว่ามี
     การบันทึกตำรับยาหอมมากกว่า 300 ตำรับ ใช้รักษาโรคภัยต่าง ๆ แพทย์ในสมัยก่อนจึงนิยมพกยาหอม
     ไว้ในล่วมยาสำหรับใช้เป็นยารักษาโรคฉุกเฉิน ควบคู่กับการใช้น้ำกระสายยาเพื่อช่วยละลายยา
     และช่วยให้ยาออกฤทธิ์เร็วขึ้นด้วย เมื่ออาการต่าง ๆ ทุเลาลงจนพ้นขีดอันตรายแล้วจึงจะตั้งยาตำรับ
     อื่น ๆ รักษาอาการผู้ป่วยตามสาเหตุต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงถือได้ว่ายาหอมเป็นมรดกและเป็น
     ภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้สรรค์สร้าง และมีการสืบทอดต่อกันมาเพื่อให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดี
            กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศยาหอมเป็นยาแผนโบราณตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบัน

     ยาหอมตำรับยาหอมทิพโอสถ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ ยาหอมแก้ลมวิงเวียน และยาหอม
     อินทจักร์ ถูกกำหนดให้เป็นตำรับยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใน
     สถานบริการสาธารณสุขของรัฐสามารถจ่ายยาหอมตำรับดังกล่าวนี้แก่ประชาชน โดยประชาชน
     ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกด้วย
            กล่าวโดยสรุป ยาหอมเป็น มรดกไทย ภูมิปัญญาไทย ที่ควรค่าต่อการรักษา เพื่อสืบสาน
     ความเป็นไทยและเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี สำหรับในตอนที่ 2 จะชวนให้ทุกท่านทำความรู้จักกับ
     วัตถุดิบสำคัญ ๆ ที่ทำให้เราได้มียาหอมไว้ใช้กัน อย่าลืมติดตามตอนต่อไป
   1   2   3   4