Page 2 - จุลสารกรมแพทย์แผนไทยฯ ปีที่3 ฉบับที่ 2 ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2563
P. 2

ยาหอม…ยาสามัญ ที่ไม่ธรรมดา






        (ตอนที่ 2 ยาหอม มาจากไหน)                                                     พท.ชัยพร  กาญจนอักษร,


                                                                                      พท.ป.ผุสชา  จันทร์ประเสริฐ



                                             ยาหอม เป็นมรดกทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า
                                   ด้านการดูแลสุขภาพของคนไทย ในบทความนี้จึงนำเสนอเครื่องยาที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ
                                                   และการได้มาของเครื่องยาในตำรับยาหอม ดังนี้



                   รศ.ดร.นพมาศ  สุนทรเจริญนนท์ ได้จัดกลุ่มเครื่องยาที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของยาหอมเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
            1) ยาพื้นฐาน ต้องเป็นเครื่องยาที่มีกลิ่นหอม มีรสสุขุม เพื่อช่วยให้ร่างกายปรับเข้าสู่สมดุล ไม่ร้อนไม่เย็นจนเกินไป เช่น โกฐ เทียน

            เกสรทั้ง 5 เทียนทั้ง 5 กฤษณา กะลำพัก ขอนดอก อบเชย และชะมดเช็ด 2) เครื่องยาที่มีรสร้อน เพื่อเพิ่มการทำงาน
            ของธาตุลมในร่างกายให้ดีขึ้น เช่น สมุลแว้ง ว่านน้ำ กระชาย เปราะหอม พริกไทย ข่าต้น ลูกจันทน์ ผิวของส้มหรือมะกรูด
            3) ยาปรับธาตุ ช่วยปรับสมดุลร่างกายให้ดีขึ้น เช่น พิกัดเบญจกูล (ดีปลี ช้าพลู สะค้าน เจตมูลเพลิง ขิง) พิกัดตรีผลา (สมอไทย
            สมอพิเภก มะขามป้อม) และ 4) เครื่องยาอื่นที่ใส่เฉพาะตำรับ เพื่อใช้เฉพาะอาการ เช่น สมุนไพรรสขมหรือเย็น ช่วย
            ลดความร้อนและลดไข้ในร่างกาย สมุนไพรจำพวกกระจับ แห้วหมู ช่วยบำรุงกำลัง หรือสมุนไพรจำพวกฝาง ดอกคำไทย

            เพื่อบำรุงโลหิต โดยเครื่องยาพื้นฐานและเครื่องยาที่มีรสร้อนเป็นเครื่องยาที่จำเป็นต้องมีในยาหอม ส่วนเครื่องยาอื่น ๆ อาจมี
            ความแตกต่างขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการตั้งตำรับยานั้น ๆ ด้วย
                    แม้ว่ายาหอมจะมีองค์ประกอบของเครื่องยาหลากหลายชนิด แต่แทบทุกตำรับจำเป็นต้องมีเครื่องยา 3  สิ่งนี้ ได้แก่

                   ดอกมะลิ เป็น 1 ในเครื่องยาของพิกัดเกสรทั้ง 5 ที่ขาดไม่ได้ในยาหอม การนำมะลิไปใช้ผลิตยาจำเป็นต้องปลอด
            สารพิษ และต้องใช้ดอกมะลิที่ตากแห้งจำนวนมาก เช่น ยาหอมเทพจิตร เป็นยาหอมตำรับหนึ่งที่ใช้ดอกมะลิเป็นส่วนประกอบ
            หลักในตำรับกว่าร้อยละ 50  ซึ่งสรรพคุณสำคัญของมะลิ คือ ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงครรภ์ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ
                   กฤษณา โดยทั่วไปเนื้อไม้จะมีความอ่อน มีสีขาว ไม่มีกลิ่นและไม่มียาง แต่จะมีกลิ่นหอมเมื่อเนื้อไม้เกิดเชื้อรา
            เข้าไปในเนื้อไม้ หรือทำให้เกิดบาดแผลบริเวณลำต้น ทำให้เนื้อไม้จะสร้างชันน้ำมัน (oleoresin) ทำให้เนื้อไม้มีสีเข้มและมี

            กลิ่นหอม ยิ่งเนื้อไม้มีสีที่เข้มมากเท่าใดจะมีชันน้ำมันปริมาณที่สูงและมีคุณภาพตามไปด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาปลูกนานตั้งแต่
            10 ปีขึ้นไป ปัจจุบันเกษตรกรสนใจปลูกกฤษณาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตลาดในโลกมุสลิมเพื่อเป็นเครื่องหอมธรรมชาติ
            โดยสรรพคุณที่สำคัญ คือ ช่วยบำรุงโลหิตและหัวใจ แก้ลมวิงเวียน แก้ไข้ต่าง ๆ และแก้ปวดบวมตามข้อ

                   เครื่องยาอีกหนึ่งสิ่งที่มีความสำคัญในการผลิตยาหอม คือ ชะมดเช็ด ซึ่งได้จากเมือกหรือไขจากตัวชะมดเช็ดทั้ง
            ตัวผู้และตัวเมีย ที่เช็ดไว้ตามไม้ที่ปักหรือซี่กรงที่ขังชะมดเช็ดไว้ มีกลิ่นฉุน และก่อนใช้ทำยาต้องฆ่าฤทธิ์เสียก่อนใช้ปรุงยา
            สรรพคุณบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น เป็นยาบำรุงกำลัง ดับพิษโลหิต ปัจจุบันมีกลุ่มผู้เลี้ยงชะมดเช็ดเพื่อนำวัตถุดิบสำหรับ
            ผลิตยาหอมโดยเฉพาะ
                    ยาหอม  เป็นภูมิปัญญาที่ใช้ดูแลสุขภาพของคนไทยมาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน  การผลิตยาหอม

            ปัจจุบันมีการพัฒนากระบวนการผลิตที่ดี สามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบที่ประชาชนสามารถเข้าถึง
            และใช้ได้ง่าย  ซึ่งคนไทยควรสนับสนุนการใช้ยาไทย  เพื่อให้ยาหอมเป็นที่รู้จักและใช้อย่างแพร่หลายโดยคนไทย
            และชาวต่างประเทศต่อไป
   1   2   3   4