Page 3 - จุลสารกรมแพทย์แผนไทยฯ ประจำเดือนมกราคม 2562
P. 3
เด็กไทย ยาไทย อนาคตประเทศไทย
พท.ป. ผุสชา จันทร์ประเสริฐ
ในวันเสาร์สัปดาห์ที่ 2 ของทุกปี เป็นวันสำคัญของเด็กไทย นั่นคือ วันเด็กแห่งชาติ ซึ่งกำหนดขึ้นโดย
มีจุดประสงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึง
บทบาทสำคัญของตนต่อประเทศ และปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคมเพื่อเตรียมพร้อมกับการจะเจริญเติบโต
ขึ้นเป็นกำลังของชาติในอนาคต
ปัจจุบันสังคมสมัยใหม่ อาจมองข้ามการรักษาลูกหลานด้วยยาสมุนไพร แต่สมุนไพรไทยหลายชนิด
มีสรรพคุณรักษาโรคเบื้องต้นได้ดีทั้งในผู้ใหญ่และในเด็กมาตั้งแต่โบราณกาล การใช้ยาสมุนไพรช่วยลดการใช้ยา
ปฏิชีวนะโดยไม่สมเหตุผล สามารถลดภาวะเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพได้ในอนาคตอีกทางหนึ่ง ปัจจุบัน สังคมโลกมี
แนวโน้มกลับมาใช้ยาสมุนไพร ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งขนาดย่อมถึงขนาดใหญ่ มีการพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมใน
ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สำหรับเด็กเล็ก ให้มีความหลากหลาย น่าสนใจ ใช้ง่าย ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง มีบรรจุภัณฑ์ที่
สวยงาม ทันสมัย และเหมาะแก่การพกพานำไปใช้ เช่น ยามหาหิงค์ได้รับการพัฒนาให้เป็นสีใส ลดการเปื้อนเสื้อผ้า ทาง่าย
ซึมซาบเร็ว ช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ สติกเกอร์หอมแดงติดบนเสื้อผ้าเด็ก ช่วยให้จมูกสดชื่น หายใจโล่งสบาย
เซรั่มอัญชันรูปแบบหลอดแท่งปลายหัวแปรงเพื่อคิ้ว-เส้นผมดกดำ หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์กลุ่มกันยุง ก็มีการ
พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ เช่น สเปรย์ โลชั่น แผ่นแปะ สายรัดข้อมือ เป็นต้น
ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาที่สามารถใช้สำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 1 เดือน จนถึง 12 ปี ได้แก่
ยาประสะกะเพรา ยามันทธาตุ ยาธาตุบรรจบ บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ยาเหลืองปิดสมุทร
บรรเทาอาการท้องเสีย ยาจันทน์ลีลา ยาประสะจันทน์แดง ยาเขียวหอม ยาประสะเปราะใหญ่ ยาห้าราก ลดไข้
ถอนพิษไข้ แก้ร้อนใน ยามหานิลแท่งทอง แก้ไข้ หัด อีสุกอีใส ยาประสะมะแว้ง ยาอัมฤควาที แก้ไอ ขับเสมหะ เป็นต้น
การกวาดยา เป็นภูมิปัญญาการใช้ยาในเด็กที่นิยมใช้มา
ตั้งแต่โบราณ เพราะช่วยให้เด็กได้รับยาในขนาดที่ต้องได้รับ เพราะยาแผนไทย
ส่วนมากมีรสขม การให้เด็กร่วมมือในการดื่มยาต้มหรือยาผงชงน้ำคงเป็น
เรื่องยาก และนอกจากนี้ การให้ยาด้วยวิธีนี้ยังเหมาะกับการให้ยาที่ต้องการ
ให้ออกฤทธิ์บริเวณลำคอ เช่น ยาบรรเทาอาการไอ เป็นต้น วิธีการกวาดยา
คือ ใช้นิ้วชี้แตะยากวาดไปรอบ ๆ ด้านในคอเด็ก แต่ปัจจุบันวิธีการดังกล่าว
มีความนิยมลดลง สาเหตุอาจเนื่องจากผู้ปกครองมีความเห็นว่าไม่สะดวก
ต่อการใช้ แต่อย่างไรก็ตาม ยากวาดหลายตำรับ ยังสามารถใช้ได้ดีกับโรคเด็ก
ในปัจจุบัน เช่น ยากวาดคอเด็กซึ่งมีการเตรียมโดยใช้น้ำกระสายยาที่มีฤทธิ์ละลาย
เสมหะผสมกับยาอัมฤควาที ก่อนนำไปกวาดคอเด็ก ซึ่งพบว่าได้ผลดีกับเด็กที่มี
อาการไอ และมีเสมหะมาก และในกรณีโรคท้องร่วง (ชนิดที่ไม่มีมูกเลือด และการ
ติดเชื้อ) การใช้ยากวาดซึ่งเตรียมจากยาเหลืองปิดสมุทรผสมกับน้ำกระสายยาที่มี
รสฝาด เช่น น้ำต้มเปลือกลูกทับทิม หรือ น้ำต้มเปลือกแค ก็พบว่าสามารถทำให้
เด็กหยุดถ่ายอุจจาระได้ดีเช่นกัน
การใช้ยาสมุนไพรไม่ใช่เรื่องล้าสมัยอีกต่อไป หากเปิดใจยอมรับ และ
ทดลองใช้จะทำให้เด็กไทยทราบและตระหนักถึงภูมิปัญญาที่มีคุณค่า และช่วย
สืบสานภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยให้อยู่คู่ประเทศไทยต่อไป