ไทย – จีน จับมือพัฒนามาตรฐานการรักษาโรคหวังลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและมหาวิทยาลัยหูเป่ย เร่งดำเนินการจัดทำระบบฐานข้อมูลการรักษาโรคด้วยการแพทย์แผนจีนหวังลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพในอาเซียน
วันนี้ (6 กันยายน 2556)ที่งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 10 ฮอลล์ 7- 8 อิมแพ็คเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วยคณะทำงานร่วมให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความร่วมมือ“การจัดทำระบบการจัดเก็บข้อมูลการให้บริการการแพทย์แผนจีน”ซึ่งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีนร่วมมือกันดำเนินการพัฒนาแผนการรักษาโรคและระบบการรายงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่จัดเก็บ รวมทั้งสามารถเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการศึกษาวิจัยกับหน่วยงานต่างๆใน สาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศอื่นๆ ได้อย่างกว้างขวางต่อไป
ในการนี้นายแพทย์สมชัย กล่าวว่า เพื่อเตรียมความพร้อมให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพในอาเซียน จึงมีความจำเป็นในการจัดทำมาตรฐานการให้บริการ การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย ให้มีความทัดเทียมหรือดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเปิดให้บริการแพทย์แผนจีนเช่นเดียวกัน ปัจจุบันกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยสถาบันการแพทย์ไทย – จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้นำมาตรฐานต่างๆที่ได้จัดทำขึ้น เช่น การจัดทำตำราอ้างอิง ด้านการแพทย์แผนจีน ประกอบด้วย ตำราการฝังเข็ม รมยา เล่ม 1-5 , ตำรับยาจีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย เล่ม 1-3 และพจนานุกรมศัพท์การแพทย์แผนจีน (ไทย – จีน – อังกฤษ) มาต่อยอดดำเนินการจัดทำ ระบบฐานข้อมูลการให้บริการทั้งจากแพทย์จีนและแพทย์ฝังเข็มจากสถานพยาบาลต่างๆ ขณะนี้กรมได้จัดทำโปรแกรมการจัดเก็บข้อมูลการรักษาผู้ป่วย การจัดทำรหัสโรคการแพทย์แผนจีนโดยใช้มาตรฐานที่จัดทำขึ้นขององค์การอนามัยโลก และเชื่อมโยงการสืบค้นข้อมูลโรคได้ทั้งภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย โดยใช้ศัพท์จากหนังสือ “พจนานุกรมศัพท์การแพทย์แผนจีน” ที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯได้จัดทำขึ้นแล้ว
นายแพทย์สมชัย กล่าวในตอนท้ายว่า ในปีงบประมาณ 2557 จะดำเนินการต่อเนื่อง จัดทำระบบการเชื่อมต่อข้อมูลกับหน่วยงานและสถานพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ได้ภาพรวมการจัดบริการการแพทย์แผนจีนในระดับประเทศ นำมาประเมินผลสัมฤทธิ์ในการรักษาโรคด้วยการแพทย์แผนจีน คาดว่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศได้แน่นอน สำหรับโรคที่ได้รับการยืนยันด้านการแพทย์แผนจีนที่ได้ผล เช่น ฝังเข็มแก้ปวดศีรษะจากไมเกรน ซึ่งรัฐบาลสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบการพิจารณาให้การสนับสนุนการให้บริการการแพทย์แผนจีนในระบบสาธารณสุขของประเทศต่อไป